ปี 66 อาหาร-เครื่องดื่ม-อสังหาฯ-รถยนต์ สายเปย์งบ ‘เงินเฟ้อ’ โจทย์ท้าทายแบรนด์ทำการตลาดดิจิทัล ปั๊มยอดขาย อะแด๊ปเตอร์ ดิจิตอล
แม้ 2-3 ปีที่ผ่านมา จะมีสารพัดเหตุการณ์ป่วนโลก โดยเฉพาะวิกฤติโควิด-19 สร้างผลกระทบใหญ่หลวงให้ผู้คน และธุรกิจ ผ่านพ้นสถานการณ์ดังกล่าว มาเจอสงครามรัสเซีย-ยูเครน เกิดวิกฤติซ้อนในวิกฤติหลายชั้น
ทว่า ธุรกิจยังต้องเดินหน้า ขับเคลื่อนสร้างการเติบโต หนึ่งในบริบทที่เปลี่ยนแปลงบนโลกการค้า คืออาวุธการทำตลาดที่เทคโนโลยี “ดิจิทัล” เข้ามามีบทบาทมากขึ้น
ปี 2566 แนวโน้มแบรนด์สินค้าและบริการต่างๆ เดินหมากรบอย่างไร เพื่อต่อกรปัจจัยลบ ชิงโอกาส เพื่อสร้างการเติบโต แม่ทัพดิจิทัล เอเยนซี อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อะแด็ปเตอร์ ดิจิตอล จำกัด ให้มุมมอง
ก่อนวิเคราะห์สถานการณ์ทำตลาดดิจิทัลปี 2566 “อรรถวุฒิ” สรุปภาพรวมปี 2565 ที่ผ่านมาถือเป็นแห่งการ “รีสตาร์ท” การปลุกทัพการทำตลาดให้มีความสดใหม่ด้วยนวัตกรรม เพิ่มความทรงพลังมากขึ้น
ยิ่งกว่านั้นลูกค้าแบรนด์สินค้าและบริการยังปรับตัวนำนวัตกรรมมาใช้เชิงรุกอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่คาดการณ์ว่าใช้เวลาอีกนาน กว่าจะเห็นภาพดังกล่าว ตัวอย่างใหญ่ ต้องหยิบข้อมูลจากยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีของโลกอย่าง Google ที่คาดการณ์มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะแตะ 2 แสนล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ การเติบโตได้ทะยานทะลุเป้าหมายเรียบร้อยแล้วในปี 2565
นอกจากนี้ การชอปปิงออนไลน์ หรือค้าปลีกผ่านอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เกือบ 100% และยังมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง เพียงแต่เทียบกับช่วงโควิดระบาด อาจเห็นความร้อนแรงลดลงเท่านั้นเอง
“การทำตลาดดิจิทัลโตแรงจริงๆ ในปีที่ผ่านมา และปี 2566 ตลาดจะเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง เพราะเป็นปีที่การเปิดประเทศถาวรแล้ว เทียบกับที่ผ่านมายังคาบเกี่ยวการอยู่บ้านบ้าง จนกระทั่งไตรมาส 4 ผู้บริโภคเริ่มออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน ปลดปล่อยไลฟ์สไตล์เต็มที่”
สำหรับทิศทางการทำตลาดดิจิทัลในปี 2566 จะเห็นลูกค้าวางแผนงานไฮบริดจ์มากขึ้น เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ “เสพสื่อ” พร้อมกัน 2 สื่อ หรือชอปปิง 2 ช่องทาง ทั้งอีคอมเมิร์ซเติบโต และไปยังห้างค้าปลีก(Physical store )ด้วย
นอกจากนี้ โจทย์การทำงานกับลูกค้า คือการใช้จ่ายเงินให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะ “ตัวแปร” ใหญ่ คือภาวะ “เงินเฟ้อ” ปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคมีกำลังซื้อน้อยลง แบรนด์จึงต้องใช้งบประมาณให้คุ้มค่า ในแต่ละช่องทางและเจาะกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ
“ลูกค้าจะใช้งบประมาณ เพื่อทำการตลาด แต่สามารถพาแบรนด์ไปไกลกว่าเดิม คือยอดขาย หรือผลลัพธ์ดีกว่าเดิม ภายใต้เม็ดเงินเท่าเดิม” แนะนำข่าวเพิ่มเติม>>> รอบรั้วการตลาด : OR จับมือ พม.ร่วมสร้างโอกาสให้กลุ่มเปราะบางผู้ด้อยโอกาส